วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนมีนาคม ครั้งที่ 2/2554

ปุจฉา : สนใจอยากนำสินค้าเข้าร่วมการคัดเลือกสินค้าเข้าร้าน Farmer Shop จะต้องทำอย่างไร ?
วิสัชนา : ผู้สนใจเข้าร่วมการคัดเลือกสินค้าเข้าร้าน Farmer Shop สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
1. สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ โทร/FAX. 02-940-6300
2. กรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ http://cai.ku.ac.th Download แบบฟอร์มการคัดเลือกสินค้า
3. ส่งทาง E-mail : cai_coop@yahoo.com
4. ไปรษณีย์ ติดต่อที่ สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ ชั้น 2 อาคารวิจัยและพัฒนา 50 ถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
ทางสถาบันฯ จะมีการประชุมคัดเลือกสินค้าเป็นระยะ ส่วนคุณลักษณะและภาพรวมของสินค้าแบ่งเป็น 3 ประเภท คืออาหาร-สินค้าอุปโภค-ของที่ระลึก โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ Farmer Shop ผ่านเว็บไซต์ http://cai.ku.ac.th

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนมีนาคม ครั้งที่ 1/2554

ปุจฉา : การดำเนินโครงการวิจัยแนวทางการพัฒนาระบบการเงินสหกรณ์ที่เกื้อหนุนพึ่งพาตนเองและร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ จะก่อให้เกิดผลอย่างไรต่อขบวนการสหกรณ์ ?
วิสัชนา : โครงการวิจัยแนวทางการพัฒนาระบบการเงินสหกรณ์ที่เกื้อหนุนพึ่งพาตนเองและร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์เป็นความร่วมมือระหว่างชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) และสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ โดยการวิจัยมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบความเชื่อมโยงทางการเงินและบริการที่เกี่ยวข้องของระบบการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ในโมเดลของการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างบูรณาการ ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายอุปทาน พันธมิตรธุรกิจ เครือข่ายอุปสงค์และการลงทุน โดยพิจารณาในเรื่องของการจัดการความสัมพันธ์ ข้อมูล ข่าวสาร ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่เอื้อประโยชน์ต่อการลดข้อจำกัด และการใช้ความสามารถหลักและทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ในขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ ในลักษณะที่เกื้อหนุนระบบการพึ่งพาและร่วมมือกัน ในการบริหารด้านการเงินและบริการที่เกี่ยวข้อง ที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเงินอย่างยั่งยืน
สำหรับประโยชน์ที่คณะนักวิจัยคาดว่าจะ ได้รับนั้นคือการจัดเวที เวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้นำสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ครั้ง จากกำหนดการที่จะจัดขึ้น 4 ครั้ง โดยข้อมูลที่ได้จากการตกผลึกทางความคิดของผู้นำสหกรณ์ในแต่ละเวที นักวิจัยจะได้รวบรวมเป็นข้อมูลนำเสนอต่อ ชสอ.เพื่อใช้ในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของ ชสอ.ในการทำหน้าที่ศูนย์กลางทางการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย อีกทั้งในการจัดเวทีในแต่ละครั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างฝ่ายกำหนดนโยบายสถาบันการเงิน นักวิชาการ และนักสหกรณ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบการเงินที่เอื้อประโยชน์ต่อการพึ่งพาและร่วมมือกันของสหกรณ์ โดยมีกรอบแนวทางสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบการบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาขบวนการสหกรณ์