วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนตุลาคม ครั้งที่ 5/2554

ปุจฉา : ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ Smiths Farm Shop ?
วิสัชนา : ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ Smiths Farm Shop จะมุ่งเน้นที่จะให้ลูกค้าได้สัมผัสในสินค้าและบริการ โดย สินค้าจะต้องมีคุณภาพ มีความสดใหม่ จะเน้นที่การคัดสรรสินค้าจากเกษตรกรในท้องถิ่น ที่สามารถขนส่งมาจำหน่ายในระยะทางที่ใช้เวลาสั้น เพราะจะช่วยให้สินค้ามีการคงความสดใหม่ และมีคุณภาพ มีการคัดสรรสินค้าที่ออกตามฤดูกาลจากฟาร์ม เพื่อสานต่อแนวคิดเรื่อง “Food miles” และการจำหน่ายสินค้าโดยการชั่งน้ำหนัก ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อตามที่ต้องการมากกว่าการซื้อเป็นแพ็ค ซึ่งมีปริมาณเกินความต้องการของลูกค้า และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างบรรยากาศและสร้างความหลากหลายในการซื้อสินค้า ที่สามารถดึงดูดให้ลูกค้าสนใจกลับมาอุดหนุนอีก (เรียนรู้ธุรกิจทางเลือกจาก Smiths Farm Shop ,วารสารฅนสหกรณ์ ฉบับที่ 13)

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนตุลาคม ครั้งที่ 4/2554

ปุจฉา : ความแตกต่างระหว่างสินค้า OTOP กับสินค้า Farmer Shop มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
วิสัชนา : สินค้า OTOP มีจุดเด่นคือใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการโอทอป เกิดขึ้นจำนวนมากและมีผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังขาดตลาดรองรับที่แน่นอน และเมื่อใดที่ผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต มักจะประสบสภาวะขาดทุนเนื่องจากมีค่าการตลาดสูง ดังนั้นจึงมักเห็นสินค้าโอทอปจำหน่ายตามมหกรรมสินค้าหรืองานโอทอปโดยเฉพาะ ซึ่งจัดขึ้นโดยส่วนราชการในจังหวัดต่างๆ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการ โอทอปจำนวนหลายหมื่นรายที่ต้องการโอกาสในการทำช่องทางการตลาดที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนต้องการการบริหารจัดการที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของสินค้าให้เป็นที่น่าเชื่อถือไว้วางใจแก่ผู้บริโภคต่อไป
ร้าน Farmer Shop เน้นเรื่องการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโซ่อุปทานสินค้าเกษตรแปรรูป โดยใช้แบรนด์ Farmer Shop เป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทราบว่าสินค้าในร้านนั้นผ่านกระบวนการคัดกรองใน 3 ประเด็น ได้แก่ สินค้ามาจากช่องทางที่ใช้วัตถุดิบของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน สินค้าได้การรับรองมาตรฐานที่เชื่อถือได้ มีระบบการบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญกับการค้าที่เป็นธรรม ภายใต้กระบวนการดำเนินงานทั้ง 5 ขั้นตอน ได้แก่ การคัดสินค้า การพัฒนามาตรฐานตัวสินค้า การพัฒนาโซ่อุปทานสินค้า การจัดการร้านค้าปลีก และการสร้างแบรนด์ Farmer Shop อาจกล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบการแก้ปัญหาแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ สถาบันเกษตรกรอย่างเป็นระบบ