ปุจฉา : แนวทางปฏิรูปประเทศไทย ของ คปร. การปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีข้อเสนอแนวทางอย่างไร ?
วิสัชนา : ควรมีข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปการเกษตร ดังนี้
1.การสร้างอำนาจการต่อรอง รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันในทุกรูปแบบและเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มต่างๆ จนเป็นสหกรณ์ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และมีส่วนร่วมในการจัดสรรการใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน
2.ระบบการศึกษาและเรียนรู้สำหรับเกษตรกรรายย่อย สร้างกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความรู้ใหม่จากการวิจัย โดยให้เกษตรกรได้มีส่วนในการวิจัยด้วยตนเอง การเผยแพร่นวัตกรรมด้วยการจัดให้มีสถาบันหรือกลไกในการเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรรายย่อยให้มีความรู้ความสามารถในการทำการเกษตรอย่างเหมาะสมตามบริบทของท้องถิ่นและความเป็นสากล
3.หลักประกันความเสี่ยงทางเกษตร ให้มีระบบประกันความเสี่ยงหรือประกันผลผลิตการเกษตรในรูปต่างๆ และสร้างหลักประกันรายได้และคุณภาพชีวิตขั้นต่ำ เช่น สร้างอาชีพเสริมรายได้ สร้างราคาผลผลิตที่เป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ขั้นต่ำเพียงพอแก่การครองชีพ
4.ตลาดเสรีที่แท้จริง รัฐควรลดบทบาทการแทรกแซงกลไกตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการบิดเบือนราคา ซึ่งมักนำไปสู่การทุจริต จัดให้มีตลาดสินค้าเกษตรให้หลากหลาย เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านการกระจายสินค้า และการเปิดช่องทางให้กลุ่มเกษตรกรมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกโดยตรง
5.การจัดการหนี้สินและทุน ควรเร่งรัดปัญหาหนี้สินเกษตรกร ให้จัดการหนี้สินกับกลุ่มเกษตรกรแทนบุคคล และหาแนวทางการจัดการทางการเงินและแผนการออมของครัวเรือนเกษตรกรไปพร้อมกัน และให้สินเชื่อผ่านกลุ่มแทนเกษตรกรรายบุคคล
6.ความปลอดภัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม กำหนดเป้าหมายการลดใช้สารเคมีให้ชัดเจน ปฏิรูประบบควบคุมสารเคมี และสนับสนุนระบบการเกษตรที่ปลอดภัย โดยกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนภายในเวลาที่กำหนด
7.ระบบการสนับสนุนจากภาครัฐ ควรบูรณาการระบบฐานข้อมูลเกษตรกรให้เป็นเอกภาพและเป็นข้อมูลสาธารณะ ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากการที่เกษตรกรต้องพึ่งบริการจากรัฐมาเป็นพึ่งตนเองและพึ่งพากัน ปรับนโยบายเกษตรให้เป็นอิสระจากกลุ่มทุน และปรับระบบบริหารภาครัฐให้หน่วยงานรัฐมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น