วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนตุลาคม ครั้งที่ 3/2554

ปุจฉา : ดิฉันติดตามงานสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ เป็นประจำ ดิฉันสนใจโครงการอบรมผู้จัดการหลักสูตรเรียนรู้เส้นทางสู่การเป็นผู้จัดการสหกรณ์มืออาชีพ ที่สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ จะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้อยากทราบรายละเอียดของหลักสูตรการอบรมดังกล่าว ?
วิสัชนา : ขอบพระคุณที่ติดตามงานของสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง สำหรับโครงการเรียนรู้ หลักสูตร “เส้นทางสู่การเป็นผู้จัดการสหกรณ์มืออาชีพ” นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในสายการจัดการสหกรณ์ ให้มีสมรรถนะใน 4 มิติ ทั้งด้านปรัชญา / อุดมการณ์สหกรณ์ กระบวนทัศน์ หลักการและแนวปฏิบัติ เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนสหกรณ์ในทิศทางของการเป็นองค์การอิสระพึ่งพาตนเอง (Self-help Organization: SHOs) อันจะเป็นการเพิ่มพูนแนวคิด ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ แก่บุคลากรสายการจัดการสหกรณ์ ให้มีขีดความสามารถ และมีความพร้อมในการยกระดับความสามารถของสหกรณ์ ตาม อัตลักษณ์การเป็นองค์การพึ่งพาตนเอง แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารจัดการที่มององค์รวม การทำงานเป็นทีม และการบริหารจัดการใช้โซ่อุปทานอย่างบูรณาการ
ตลอดการอบรมในรุ่นที่ 1 ใช้เวลาในการเรียนรู้ / การอภิปราย 30 ชั่วโมง หรือ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 - 21 ตุลาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากด้วยประสบการณ์ อาทิ คุณลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, อาจารย์วรเทพ ไวทยาวิโรจน์ อดีตผู้บริหารอาวุโส ส่วนตราสารหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น
โดยผู้สนใจเข้ารับการอบรมต้องมีคุณสมบัติคือเป็นพนักงานสหกรณ์ มีความรู้พื้นฐานระดับปริญญาตรี มีประสบการณ์ในงานสหกรณ์ ไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยกรณีมีความรู้พื้นฐานต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ต้องมีประสบการณ์ในการทำงานสหกรณ์ไม่ต่ำกว่า 3 ปี สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้น 2 ห้อง 205 อาคารวิจัยและพัฒนา โทรศัพท์/โทรสาร 02-940-6300 ติดต่อ คุณธราภรณ์ ศรีงาม

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนตุลาคม ครั้งที่ 2/2554

ปุจฉา : ผลงานวิจัยของโครงการวิจัยเชื่อมโยงโซ่อุปทาน:เครือข่ายคุณค่ายางพารา ปีที่ 2 สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง ?
วิสัชนา : สหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด สามารถนำความรู้จากกิจกรรมการให้ความรู้การใช้ปุ้ยกับยางพาราตามค่าวิเคราะห์ดิน และกิจกรรมแนะนำการใช้ปุ๋ยน้ำสกัดจากมูลสุกรไปถ่ายทอดให้แก่สมาชิกเกษตรกร ซึ่งเป็นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยให้กับสมาชิกเกษตรกร และการนำแผนธุรกิจที่วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของเครือข่าย การทำแผนกลยุทธ์ทางการตลาดและแผนความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจยางพารา เพื่อนำไปพัฒนาให้เครือข่ายคุณค่ายางพารามีความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้สมาชิกได้รับประโยชน์มากกว่าเดิม

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนตุลาคม ครั้งที่ 1/2554

ปุจฉา : ข้อจำกัดในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสหกรณ์ที่มีคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม ที่ค้นพบจากการวิจัยในชุดโครงการ “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม ระยะที่ 3” มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ?
วิสัชนา : การวิจัยในชุดโครงการ “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม ระยะที่ 3” มีข้อจำกัด ดังนี้
1.คนในสังคมไม่เชื่อมั่นและวางใจในสหกรณ์
2.กลุ่มคนวงใน ได้แก่ สมาชิกสหกรณ์ กรรมการ ฝ่ายจัดการ ขาดวิญญาณสหกรณ์ ส่วนใหญ่เข้ามาโดยเหตุทางเศรษฐกิจและสังคม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน
3.ขาดการบริหารจัดการแบบองค์รวม
4.มุมมองในประเด็น “สหกรณ์เป็นเครื่องมือของรัฐ”
5.ระบบการให้การศึกษาอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ผ่านมาเป็นไปในรูปแบบการให้ความรู้ แต่ยังขาด “วิธีคิด”
6.พันธะความรับผิดชอบ