วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนกันยายน ครั้งที่ 5/2555

ปุจฉา : อยากทราบการทำงานของสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์มีทิศทางของการพัฒนาสังคมอย่างไร ?

วิสัชนา :ปัจจุบันสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการชุดโครงการวิจัยการขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม ระยะที่ 5 มุ่งเน้นไปที่การนำชุดความรู้ตามกรอบการพัฒนาระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม (VN&F Platform) ไปใช้ในการพัฒนาตัวแบบธุรกิจ โดยมีโครงการวิจัยภายใต้ชุดโครงการทั้งสิ้น 12 โครงการ โดยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ซึ่งได้นำเอาการบริหารจัดการโซ่อุปทานมาใช้ในธุรกิจ เพื่อการยกระดับสมรรถนะของธุรกิจ การบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการแบ่งงานกันตามความสามารถของภาคี ได้ก่อให้เกิดคุณค่าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยข้อค้นพบจากการวิจัยได้ชี้ให้เห็นคุณสมบัติของตัวแบบธุรกิจที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 

   1.) ตัวแบบธุรกิจที่ดำเนินการบนหลักการการพึ่งพาและร่วมมือกันของภาคีภายใต้ 3 เสาหลักด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 
   2.) ภาคีมีกรอบการทำงานอย่างมีแบบแผนเพื่อการบรรลุเป้าหมายร่วม 
   3.) มีการบริหารจัดการโซ่อุปทานในธุรกิจ 
   4.) ดำเนินธุรกิจภายใต้กลไกตลาดเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม และ 
   5.) ไม่เป็นองค์กรรับเงินทุนเพื่อการแทรกแซงกลไกตลาดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวบ่งชี้ถึงบริบทของการเป็นธุรกิจฐานสังคม (Social Economy Enterprises: SEE)
         
    กระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของตัวแบบธุรกิจฐานสังคมดังกล่าวชี้ให้เห็นบริบท 3 ประการ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ในการขับเคลื่อนธุรกิจฐานสังคมในฐานะกลไกการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมของตัวแบบธุรกิจฐานสังคมได้นำไปสู่การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ 9 ประการ จากนั้นจึงนำมาจัดทำเป็นแผนที่ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนธุรกิจฐานสังคมสู่การบรรลุวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ  สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความเสมอภาค เป็นธรรม มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง