วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนสิงหาคม ครั้งที่ 2/2553

ปุจฉา : โครงการประกาศเกียรติคุณและเสวนาวิชาการ ประจำปี 2553 ในหัวข้อ “บนเส้นทางสู่ระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม” มีความสำคัญและให้ประโยชน์อย่างไรต่อผู้ที่เข้าร่วมเวที ?
วิสัชนา : การจัดเวทีเสวนาวิชาการในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อนำชุดความรู้และนวัตกรรมจากการวิจัยมาเผยแพร่ โดยคาดหวังที่จะเปิดโอกาสให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าถึงข้อมูล ความรู้และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนการเรียนรู้จากแนวทางปฏิบัติที่ดีของงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม เพื่อการนำไปปรับใช้ในสหกรณ์ กลุ่ม/องค์กรและวิสาหกิจชุมชนต่อไป พร้อมกันนี้จะได้จัดให้มีพิธีประกาศเกียรติคุณนักสหกรณ์และสหกรณ์ที่มีคุณค่า เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้นำสหกรณ์และสหกรณ์ที่เป็นแบบอย่างที่ดี ประจำปี 2553 และประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมเวที คือ นักวิจัย นักสหกรณ์ นักวิชาการ ผู้นำกลุ่ม/องค์กร นักพัฒนา และผู้สนใจ ได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับ รูปแบบ แนวทาง และวิธีการยกระดับการบริหารจัดการกลุ่ม/องค์กร/สหกรณ์ สู่ระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนสิงหาคม ครั้งที่ 1/2553

ปุจฉา :การคัดเลือกนักสหกรณ์ที่มีคุณค่า มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกและตัดสินอย่างไร ?
วิสัชนา :สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ จากผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาและตัดสิน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติของนักสหกรณ์ที่มีคุณค่าและสหกรณ์ที่มีคุณค่าในมิติด้านต่างๆ ซึ่งแต่ละมิตินั้นคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา ดังนี้
มิติด้านคุณค่า-อุดมการณ์สหกรณ์
(1) ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี (ซื่อสัตย์/มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และสังคม)
(2) ออมเงินกับสหกรณ์อย่างสม่ำเสมอ
(3) มีน้ำใจ /เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่งานสหกรณ์และสมาชิก
(4) เป็นผู้ริเริ่มนโยบายที่เอื้อแก่สหกรณ์ให้สามารถพึ่งพาตนเองและร่วมมือ ระหว่างกัน
(5) ได้รับรางวัลเกียรติคุณต่าง ๆ ที่สื่อถึงคุณค่า เช่น เป็นบุคคลตัวอย่าง
(6) เป็นคนที่เปิดใจกว้าง ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
มิติด้านกระบวนทัศน์
(1) มีความคิดเชิงระบบในทางสร้างสรรค์ (การตัดสินใจ/ การกระทำ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นองค์รวมต่อสหกรณ์ อันเป็นแบบอย่างที่ดี)
(2) มีแนวความคิดเป็นที่ประจักษ์เชิงคุณค่าที่ยกระดับภาพลักษณ์สหกรณ์
(3) ริเริ่มให้มีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและสหกรณ์
มิติด้านหลักการ
(1) มีจุดยืนโดยยึดมั่นบนผลประโยชน์ของสมาชิกและสหกรณ์เป็นสำคัญ
(2) มีความเสมอต้นเสมอปลายในการทำงานหรือกิจกรรมด้านสหกรณ์
(3) ใช้หลักการและเหตุผลสนับสนุนการตัดสินใจ/ให้ความเห็นทุกครั้ง
มิติด้านแนวปฏิบัติ
(1) มีผลงานที่นำประโยชน์สู่สมาชิก สหกรณ์และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
(2) มีกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนสังคมอย่างต่อเนื่อง
(3) มีจรรยาในการปฏิบัติตนและปฏิบัติงาน
(4) ไม่ละเมิดกฎระเบียบ และข้อบังคับสหกรณ์
(5) ยึดมั่นและปฏิบัติในหลักสหกรณ์สากลและหลักการธุรกิจที่ดี (Good business practice)