วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ครั้งที่ 4/2555


ปุจฉา : การดำเนินการโครงการวิจัย “โรงเรียนลูกชาวนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะการทำการเกษตรเชิงธุรกิจ : มิติใหม่แห่งการเรียนรู้จากแปลงนาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นักวิจัยมีการขับเคลื่อนอย่างไร และจะเกิดประโยชน์อย่างไรจากการดำเนินโครงการ ?
วิสัชนา : โครงการวิจัย “โรงเรียนลูกชาวนาเพื่อเพิ่มสมรรถนะการทำการเกษตรเชิงธุรกิจ” เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างของแรงงานภาคการเกษตร แรงงานภาคเกษตรไหลเข้าภาคอุตสาหกรรม คนรุ่นใหม่ไม่สนใจทำงานในภาคเกษตร ประกอบกับกลุ่มลูกหลานเกษตรกรไม่สนใจทำการเกษตรสืบเนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ มีโอกาสเรียนสูง ทัศนะคติเกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และที่สำคัญการที่ลูกหลานเกษตรกร ชาวไร่ชาวนาขาดทักษะ ขาดการต่อยอดในการพัฒนาความรู้ความสามารถ ให้เท่าทันกับกระแสสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
           การดำเนินโครงการวิจัยเป็นแนวทางการที่จะรักษาลูกหลานชาวนาให้อยู่กับผืนนาของตน เป็นการมุ่งเน้นให้ลูกหลานชาวนาสามารถบริหารจัดการธุรกิจการเกษตรแบบเท่าทันใช้ที่ดินในการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
           ในช่วงระยะเวลานี้เป็นระยะเริ่มต้นของการขับเคลื่อนโครงการวิจัย ทางนักวิจัยได้เริ่มประชุมและว่างแผนขับเคลื่อนโดยได้เชิญนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อนำไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายใน 5 พื้นที่

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ครั้งที่ 3/2555


ปุจฉา : สนใจเข้าร่วมโครงการสั่งซื้อข้าวจากชาวนา จะต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ ?
วิสัชนา : สามารถเข้ามากรอกใบสมัครหรือลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ http://www.cai.ku.ac.th โทรศัพท์/แฟกซ์ 02-940-6300 หรือติดต่อได้ที่ร้าน Farmer Shop ชั้น 1 อาคารปฏิบัติการคณะเศรษฐศาสตร์
          โครงการสั่งซื้อข้าวจากชาวนา มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างระบบธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวนากลุ่มเล็กๆ ให้มีความเป็นดีอยู่ดี ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มพ่อค้าคนกลางในขณะเดียวกันกลุ่มผู้บริโภคก็จะได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม รวมทั้งยังเป็นการรณรงค์ให้คนไทยมาช่วยอุดหนุนสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาสินค้าเกษตร และยังเป็นการส่งเสริมในเรื่องของการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของคนในสังคม