วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนธันวาคม ครั้งที่ 2/2553

ปุจฉา : อยากทราบว่าการดำเนินการโครงการวิจัย Farmer shop สังคมส่วนรวมจะได้ประโยชน์อย่างไร ?
วิสัชนา : จะเห็นว่าสินค้าที่จำหน่ายในร้าน Farmer shop เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพ ที่ผลิตและจำหน่ายโดยสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรรายย่อย กระบวนการวิจัย เป็นไปในรูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ระหว่าง สถาบันเกษตร/สหกรณ์ ผู้ประกอบการ SMEs OTOP และนักวิชาการ ที่จะมาร่วมมือกันในการบริหารจัดการโซ่อุปทานอย่างบูรณาการ ตั้งแต่กิจกรรมในระดับต้นน้ำ กิจกรรมในระดับกลางน้ำ และกิจกรรมในระดับปลายน้ำ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการสร้างเครือข่ายอุปทานสำหรับสินค้าเกษตรแปรรูป ขั้นตอนการพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ-มาตรฐาน และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ขั้นตอนการบริหารจัดการโซ่อุปทานผ่านกลไกพันธมิตรธุรกิจ ในการให้ได้มาซึ่งสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพ ขั้นตอนการออกแบบระบบ และการบริหารจัดการร้านค้าปลีก แบรนด์ Farmer Shop และขั้นตอนการบริหารจัดการ แบรนด์ Farmer Shop ที่จะรณรงค์ให้คนไทยหันมาอุดหนุนสินค้าเกษตรแปรรูปไทยที่มีคุณภาพ
ภายใต้วิสัยทัศน์ “ร้านค้าปลีกที่ทันสมัย ใส่ใจผู้บริโภค ด้วยสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม” จึงคาดหวังว่า ตัวแบบ “Farmer Shop” จะมีผลลัพธ์ในรูปแบบของระบบธุรกิจเชิงคุณค่า ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าแบบธุรกิจ ภายใต้โซ่อุปทานที่ตระหนักในระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม จะเข้ามาเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรธุรกิจร่วมกัน ในขณะเดียวกัน กลไกของ Farmer Shop ก็จะรณรงค์ให้ประชาชนในสังคม หันมาอุดหนุนสินค้าไทย ภายใต้แบรนด์ Farmer Shop ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ใน 3 ประการ ประการแรก สินค้าเกษตรกรสามารถจำหน่ายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจนของเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ได้มีช่องทางการตลาดที่สามารถ เข้าถึงผู้บริโภคอีกทางเลือกหนึ่ง ประการที่ 2 การรักษาส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าเกษตรแปรรูปไทยในธุรกิจค้าปลีกของประเทศ ประการที่ 3 การปลูกจิตสำนึกการพึ่งพาและร่วมมือกันของประชาชน ที่หันมาศรัทธา และไว้วางใจที่จะอุดหนุนสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรมในร้าน Farmer Shop ตลอดไป