วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ตอบคำถามออนไลน์ประจำเดือนสิงหาคม ครั้งที่ 4/2555


ปุจฉา : อยากทราบถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของการผลักดันสหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ ?
วิสัชนา : เนื่องจากระบบสหกรณ์เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับทุกประเทศไม่ว่าประเทศนั้นจะมีระบบเศรษฐกิจและการปกครองแบบใด ระบบสหกรณ์ได้รับการสถาปนาขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2459 และมีวิวัฒนาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สหกรณ์ในประเทศไทยมีทั้งหมด 7 ประเภท ตามลักษณะอาชีพหรือกิจการร่วมกันของสมาชิก ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสมาชิกสหกรณ์ทุกประเภทประมาณร้อยละ 16.72 ของประชากร ซึ่งเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร ร้อยละ 60 นอกภาคการเกษตรร้อยละ 40 มูลค่าธุรกิจในระบบสหกรณ์มีมูลค่าทั้งสิ้น 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จะเห็นว่าสหกรณ์เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญมาก สหกรณ์จึงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่องโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และคุ้มครองระบบสหกรณ์ และจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนทุกระดับ รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับหลักการพึ่งพาตนเอง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการนำหลักการและวิธีการสหกรณ์มาใช้ เพราะสหกรณ์สามารถแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละด้านได้เป็นอย่างดี เช่น ด้านการผลิต สหกรณ์สามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพด้วยสหกรณ์ภาคการเกษตร ด้านการบริโภคสหกรณ์สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วยสหกรณ์ร้านค้า ด้านการสร้างงาน สหกรณ์มีการลงทุนในการทำธุรกิจต่างๆ และสามารถสร้างงานให้กับชุมชนนั้นๆ ด้านการจ้างงาน สหกรณ์ช่วยลดปัญหาการว่างงาน สมาชิกสหกรณ์สามารถมีงานทำ มีรายได้ มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย ดังนั้นสหกรณ์จึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อประชาชน เป็นทางเลือกของประชาชนที่สามารถเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดเล็กและประชาชนได้มีโอกาสใช้สหกรณ์เป็นช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน เข้าถึงตลาดและแก้ปัญหาความยากจนบนหลักการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
               ในขณะที่รายงานสรุปผลการประชุมประจำปี 2552 ของสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งขาติที่ประชุมได้เสนอประเด็นที่ควรบรรจุเรื่องสหกรณ์ไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เนื่องจากแนวทางปฏิบัติทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันบนพื้นฐานแห่งคุณค่าของการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป
               ด้วยเหตุนี้ คณะอนุกรรมาธิการการสหกรณ์และองค์กรเกษตรกรในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาและผลักดันให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกขน ภาคขบวนการสหกรณ์ และภาควิชาการ โดยที่คณะทำงานฯ ได้ให้ความสำคัญและร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดทำโครงร่างการผลักดันสหกรณ์เข้าสู่วาระแห่งชาติในครั้งนี้

วัตถุประสงค์ของการผลักดัน
1. เพื่อให้รัฐส่งเสริมสนับสนุนและคุ้มครองให้สหกรณ์พัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์ นำประโยชน์สู่สมาชิก ชุมชนและประเทศชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข
2. เพื่อให้รัฐใช้กลไกของสหกรณ์และเครือข่ายเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ตลาดและการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ บนหลักการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
3. เพื่อให้รัฐสร้างกลไกการสนับสนุน และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม
4. เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นหลักในการพัฒนาการผลิตสินค้าอย่างเป็นระบบ มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
5. เพื่อให้คนในชาติตระหนักในเรื่องคุณค่าสหกรณ์และแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต